ช่วงฤดูฝนใกล้ฤดูหนาวเป็นช่วงที่มักจะมีการระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจต่างๆเช่น ไข้หวัดใหญ่และโรคปอดอักเสบ
ปอดอักเสบหรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “ปอดบวม” เพราะมีลักษณะการอักเสบของเนื้อปอด โดยเฉพาะที่บริเวณถุงลมของปอด ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อย เมื่อเป็นแล้วทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยที่อาการของโรคจะมีความรุนแรงในผู้สูงอายุ (> 65ปี) และในผู้มีโรคประจำตัวผู้สูบบุหรี่ มีโรคปอดเรื้อรัง เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง มีภาวะขาดอาหาร หรือมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคตับแข็ง โรคไต มีภูมิต้านทานโรคต่ำเช่น ในผู้ติดเชื้อเอชไอวี ได้รับยา สเตีย-รอยด์ ได้รับยารักษาโรคมะเร็ง มีภาวะสำลักง่ายจากการเป็นโรคเส้นเลือดสมอง ดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งในผู้ป่วยกลุ่มนี้เมื่อเกิดโรคปอดอักเสบแล้ว มักมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและอัตราการเสียชีวิตที่สูง ดังนั้นการวินิจฉัยโรคนี้จึงต้องทำอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันการรักษาหรือป้องกันอย่างเหมาะสมก็ล้วนมีความสำคัญมากเช่นกัน
สาเหตุการเกิดโรคปอดอักเสบเกิดจากสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ ปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ และปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่โดยทั่วไปพบปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อมากกว่า โดยการติดเชื้อมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบที่มีเชื้อแบคทีเรียเป็นสาเหตุนั้น พบว่าเกิดจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัสมากที่สุด ซึ่งสาเหตุของโรคจะแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอายุ และสภาพแวดล้อมที่เกิดปอดอักเสบ
ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบมักมีอาการแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ อายุของผู้ป่วย และความรุนแรงของโรค โดยทั่วไปมักมีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนนำมาก่อน เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ อาการปอดอักเสบที่พบบ่อยคือ ไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย ในบางรายอาจมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ผู้ป่วยบางรายจะมีหนาวสั่นได้
การรักษาแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
1.การรักษาจำเพาะ ในรายที่เป็นโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส ไม่มียารักษาที่จำเพาะควรให้การรักษาแบบประคับประคอง ยกเว้นไข้หวัดใหญ่ที่มียาต้านไวรัส สำหรับผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย ควรได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
2.การรักษาทั่วไป เช่น ให้สารน้ำให้เพียงพอ แนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ ในรายที่หอบมาก ท้องอืด รับประทานอาหารไม่ได้ ,พิจารณาให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำและงดอาหารทางปาก ,ให้ออกซิเจนในรายที่มีอาการเขียวหายใจเร็ว หอบชายโครงบุ๋ม กระวนกระวาย หรือซึม ,ใช้ยาขยายหลอดลมในรายที่มีหลอดลมตีบ ,ให้ยาขับเสมหะ หรือยาละลายเสมหะในกรณีที่ให้สารน้ำเต็มที่แต่เสมหะยังเหนียวอยู่ นอกจากนี้การรักษาอื่นๆ ตามอาการ ได้แก่ ให้ยาลดไข้และถ้าหากผู้มีภาวะหายใจล้มเหลวหรือหยุดหายใจพิจารณาใส่ท่อหลอดลมและเครื่องช่วยหายใจ
สำหรับการป้องกันโรคปอดอัดเสบทำได้ดังนี้
1.หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีผู้คนหนาแน่น เช่น ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ โดยเฉพาะไม่ควรพาเด็กเล็กๆไปในสถานที่ดังกล่าว
2.หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเช่น ภาวะทุพโภชนาการ ควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรืออากาศที่หนาวเย็น
3.ไม่ควรให้เด็กเล็กโดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปีและผู้ที่สุขภาพไม่แข็งแรงคลุกคลีกับผู้ป่วยและผู้ป่วยควรใช้หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
4.ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือใช้แอลกอฮอล์เจล
5.ให้วัคซีนป้องกันโรคในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง โดยวัคซีนที่ได้รับการพิจารณาว่ามีผลในการลดอัตราการเกิดโรคปอดอักเสบในชุมชน คือวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ สำหรับวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ มีประสิทธิภาพในการป้องกันปอดอักเสบจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัส จึงควรฉีดในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ผู้สูงอายุ(> 65ปี) ,ผู้ที่ไม่มีม้ามหรือม้ามทำหน้าที่ได้ไม่ดี, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคเบาหวาน, โรคหัวใจหรือโรคปอดเรื้อรัง, พิษสุราเรื้อรัง, โรคตับแข็ง, ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยที่ได้รับยาสเตียรอยด์ หรือยารักษาโรคมะเร็ง ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
โดยที่วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบมีความปลอดภัยสูงมาก หากจำเป็นต้องฉีดทั้งสองชนิดสามารถฉีดพร้อมกันได้ โดยผลข้างเคียงที่พบได้แก่ อาการปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีด อาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวซึ่งสามารถรักษาตามอาการได้ เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับจากวัคซีนนั้นถือว่าคุ้มค่ามากและแนะนำว่าผู้ที่มีความเสี่ยงข้างต้นสมควรมารับการฉีดวัคซีนทุกคน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น