วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

“วัณโรค” โรคร้าย..ติดง่ายไม่รู้ตัว

วัณโรคโรคร้าย..ติดง่ายไม่รู้ตัว

ปัจจุบัน 1 ใน 3 ของประชากรทั่วโลกติดเชื้อวัณโรคแล้ว ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 22 ประเทศ ที่มีผู้ป่วยวัณโรคมากติดอันดับโลก โดยไทยมีผู้ติดเชื้อวัณโรคประมาณ 25 ล้านคน และมีผู้ป่วยราว 90,000 คน ในจำนวนนี้ 40,000 คนเป็นผู้ป่วยเสมหะพบเชื้อ (ร้อยละ 44) สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ผ่านทางการไอ จาม พูดคุย จนเชื้อล่องลอยไปในอากาศ ทุกคนจึงมีโอกาสได้รับเชื้อวัณโรคตลอดเวลา



ผู้ป่วยวัณโรคระยะแพร่เชื้อ 1 ราย ถ้าไม่ได้รับการรักษา สามารถทำให้คนรอบข้างติดเชื้อได้ 10 -15 คนต่อปี และ 17% ของผู้ป่วยวัณโรคมีการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย

วัณโรค (Tuberculosis หรือ TB) เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มัยโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส” (Mycobacterium Tuberculosis) ที่มีขนาดเล็กมาก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ทำให้มีการอักเสบในปอด หรือในอวัยวะอื่นร่วมด้วย เช่น ต่อมน้ำเหลือง เยื่อหุ้มสมอง กระดูก

วัณโรคสามารถเป็นได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย แต่ที่พบบ่อยและเป็นปัญหามากในปัจจุบัน คือ วัณโรคปอด

ปัจจัยสำคัญต่อการป่วยเป็นวัณโรค
- อยู่ร่วมกับผู้ป่วยวัณโรค เช่น พักอาศัยบ้านเดียวกัน ทำงานร่วมกัน
- ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี หรือป่วยเป็นโรคเอดส์
- ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคตับ หรือโรคไต
- ผู้ป่วยที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกันนานๆ เช่น ยากลุ่มสเตรียรอยด์
- การจัดลักษณะที่อยู่อาศัยหรือที่ทำงานที่ใช้เครื่องปรับอากาศตลอดเวลา หรือสภาพแวดล้อมที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
- การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และการเสพสารเสพติด

อาการ
- ไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์
- ไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะ หรือไอมีเสมหะปนเลือด
- เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ
- มีไข้ต่ำๆ ตอนบ่ายหรือค่ำ
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย

ควรปฏิบัติตัวอย่างไรขณะป่วยและรักษา
- ใช้ผ้าผิดปากและจมูก เวลาไอหรือจามเพื่อป้องกันมิให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น
- กินยาตามชนิดและขนาดที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง จนกว่าแพทย์สั่งหยุดยา
- เมื่อกินยาประมาณ 2 สัปดาห์ อาการจะดีขึ้นห้ามหยุดยาเป็นอันขาด จะทำให้เชื้อโรคดื้อยาและรักษาหายยาก
- กินอาหารได้ทุกชนิดที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ
- จัดสถานที่พักอาศัยให้อากาศถ่ายเทสะดวก แสงแดดส่องถึง
- ควรงดเหล้า บุหรี่ และสิ่งเสพติดทุกชนิด
- ควรนำผู้สัมผัสโรคร่วมบ้าน หรือผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยเฉพาะเด็กไปรับการตรวจร่างกายตามโรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทุกแห่ง
- บ้วนเสมหะลงในภาชนะหรือกระป๋อง แล้วเทลงในส้วม ฝังดิน หรือนำไปเผา

อาการที่อาจพบจากการกินยารักษา
- คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ
- เบื่ออาหาร เหนื่อยหอบ
- ตับอักเสบ(ตัวเหลือง ตาเหลือง)
- ผื่นคันตามตัว
- ปวดข้อ
- อาการตามัว

เมื่อไรควรตรวจหาวัณโรค
- ไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์
- มีไข้ต่ำตอนบ่ายๆ หรือค่ำ
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย
- เจ็บหน้าอก เหนื่อย หอบ
- เมื่อมีญาติหรือผู้ใกล้ชิดป่วยเป็นวัณโรคปอด
- ตรวจสุขภาพประจำปี กรณีไม่มีอาการ แต่ถ้าภาวะภูมิต้านทานต่ำ เช่น เป็นโรคเบาหวาน ติดสารเสพติดหรือติดเชื้อเอดส์ ควรตรวจทุก 3-6 เดือน
- เพื่อใช้ประกอบการขอใบรับรองแพทย์

ควรปฏิบัติตัวอย่างไรไม่ให้เป็นวัณโรค
- ควรตรวจเช็คร่างกาย โดยการเอ็กซเรย์ปอดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- นำเด็กแรกเกิดไปรับการฉีดวัคซีนบีซีจี ที่โรงพยาบาลทุกแห่ง หรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน
- หากมีอาการสงสัยป่วยเป็นวัณโรค ควรรีบไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง หรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน
- รักษาสุขภาพให้แข็งแรงโดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และกินอาหารที่มีประโยชน์
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์ ซึ่งจะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายเสื่อมลง มีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคได้ง่ายขึ้น

วัณโรครักษาหายได้
ปัจจุบันมียารักษาวัณโรคหลายชนิดที่ให้ผลดี การรักษาจะได้ผลดีต่อเมื่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ใช้เวลาเพียง 6-8 เดือนเท่านั้น รวมทั้งพักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูงและมีวิตามิน เพื่อช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรค  หากผู้ป่วยวัณโรคไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ขาดยา หรือกินยาไม่ต่อเนื่อง จะทำให้เชื้อวัณโรคดื้อยา ยากต่อการรักษา และอาจแพร่เชื้อวัณโรคดื้อยาสู่ผู้อื่น

วัณโรคกับเอดส์มีความสัมพันธ์กันอย่างไร
- การติดเชื้อเอดส์ ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง โอกาสป่วยเป็นวัณโรคได้อย่างรวดเร็วและรุนแรงมากกว่า ผู้ที่ไม่ติดเชื้อเอดส์
- วัณโรคเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในผู้ป่วยเอดส์
- ผู้ติดเชื้อเอดส์ ที่ป่วยเป็นวัณโรคมีสถิติการเสียชีวิตมากกว่าผู้ติดเชื้อเอดส์ที่ไม่ป่วยเป็นวัณโรค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น