แต่ฟังแล้วน่าเป็นห่วง เพราะคนพวกนี้คือคนที่มาลงทะเบียนแล้วตรวจร่างกาย พวกนี้ไม่ได้ลงทะเบียนไม่รู้อีกเท่าไหร่ ถึงรัฐบาลจะผลักดันกลับประเทศ ก็ไม่รู้ว่าจะไปรักษากันให้หายขาดหรือเปล่า อาจสร้างปัญหาเรื้อรังต่อไปอีกยาว ... อาจต้องเรียนรู้กันเองว่า มีวิธีการป้องกันตัวเองได้อย่างไรบ้าง
การป้องกันวัณโรคในเด็ก
โรควัณโรคในบ้านเรา นับวันยิ่งมีปัญหาเพิ่มมากขึ้น ทั้งปัญหาผู้ป่วยเอดส์ที่มีเชื้อวัณโรคคุกคามรุนแรง เป็นเชื้อวัณโรคที่ดื้อยาเสียด้วย การเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เรามีพี่เลี้ยงเด็กมากขึ้น บางครั้งก็มาจากต่างจังหวัด บางคนเป็นแรงงานต่างชาติ ถูกกฎหมายก็มี ผิดกฎหมายก็มาก การแพร่กระจายของวัณโรคจึงเป็นไปอย่างกว้างขวางไม่เว้นแม้แต่คุณหมอคุณพยาบาล ห้องตรวจโรค ห้องผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่เป็นห้องปรับอากาศในกรุงเทพ ก็เป็นทางที่ผู้ป่วย ญาติ ปล่อยเชื้อวัณโรคมาถึงคุณหมอได้
แล้วเด็กๆลูกหลานของเราละครับเด็กที่เป็นวัณโรคก็เพราะได้รับการติดเชื้อมาจากผู้ใหญ่แทบทั้งสิ้น แล้วยังชอบกระจายของโรคสู่อวัยวะอื่นๆ ทำให้วัณโรคในเด็กรุนแรงได้ แม้จะมีการรักษาที่ดีก็อาจจะตายหรือพิการได้ การป้องกันจึงมีประโยชน์มากที่สุด จริงมั้ยครับ
แล้วเราจะป้องกันยังไง เริ่มที่ผู้ใหญ่ก่อนครับ ผู้ใหญ่คนที่เป็นวัณโรค ต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเพื่อตัดต้นต่อที่แพร่เชื้อ ต้องกินยาตามแพทย์สั่งอย่างครบถ้วนและสม่ำเสมอ ในระยะติดต่อไม่ควรให้เด็กมานอนหรืออยู่ใกล้ชิดด้วย ต้องระวังเวลาไอและจามโดยปิดปาก เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อวัณโรคแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้ การบ้วนเสมหะหรือน้ำลายก็จะต้องใส่ภาชนะเป็นที่เป็นทาง แล้วนำไปเทลงโถส้วมก็ได้
ตัวเด็กๆเอง เราต้องเพิ่มความต้านทานให้แก่เด็ก ต้องเลี้ยงดูให้แข็งแรง เกิดมาใหม่ๆควรเลี้ยงด้วยนมแม่ เป็นเวลา 6 เดือนเป็นอย่างน้อย ให้กินอาหารให้ครบถ้วน เหมาะสมตามวัย กินอาหารที่มีทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน และเกลือแรให้ครบถ้วน ออกกำลังกายให้แข็งแรง เด็กแรกเกิดทุกคนควรได้วัคซีน บีซีจี. ป้องกันวัณโรค ปัจจุบันนี้ตามโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน จะฉีดวัคซีน บีซีจี. นี้ให้ แต่บางรายที่ไม่เคยได้รับการฉีดตั้งแต่แรกเกิด ก็ไปขอฉีดได้ที่โรงพยาบาลหรือสถาน บริการสาธารณสุขของรัฐทุกแห่ง รวมทั้งวัคซีนอื่นๆ ก็ควรได้รับการฉีดตามกำหนด วัคซีน บีซีจี. สามารถป้องกันวัณโรคให้กับเด็กได้นานถึง 10-20 ปี พอฉีดแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ จะมีเม็ดหนองขึ้นที่บริเวณที่ฉีดซึ่งจะแตกเป็นๆ หายๆ และแห้งในเวลา 2-3 เดือน โดยไม่ต้องใส่ยา เพียงแต่ซับให้แห้งก็พอ เด็กบางราย แม้จะฉีดวัคซีน บีซีจี. แล้วก็ตาม แต่ถ้าจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับผู้ป่วยวัณโรคปอดระยะติดต่อ ภูมิคุ้มกันอาจไม่เพียงพอ ในกรณีนี้แพทย์จะสั่งให้กินยาป้องกันด้วยเพื่อให้ได้ผลดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามเราก็ควรให้เด็กห่างจากคนที่เป็นโรคไว้ก่อน ควรดูแลพี่เลี้ยง ญาติผู้ใหญ่ของเราให้แข็งแรงอยู่เสมอ และสิ่งสำคัญสุดท้าย ถ้ามีอาการที่สงสัยว่าเด็กของท่านเป็นวัณโรค เช่นมีไข้เรื้อรัง ผอมลงเบื่ออาหารน้ำหนักลด เลี้ยงไม่โต ไอไม่รู้จักหายซักที แล้วได้อยู่ใกล้ชิดคนเป็นวัณโรค ก็ควรปรึกษาแพทย์ตั้งแต่แรก การรักษาตั้งแต่แรกจะทำให้อัตราการหายมากขึ้น ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น