บางคน .. เพียงแค่พูดคุยก็ติดวัณโรคได้ (หรือ)
วัณโรคเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ และไทยก็เป็นประเทศที่มีปัญหาการแพร่ระบาดของวัณโรคโดยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 18 จาก 22 ประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรคสูงของโลก ในแต่ละปีมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ขึ้นทะเบียนเป็นจำนวนมาก ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นผู้ป่วยวัณโรคปอดที่สามารถแพร่เชื้อได้ และผลสำเร็จของรักษาผู้ป่วยมีเพียงร้อยละ 71.8 สาเหตุหลักคือเสียชีวิตก่อนการรักษาครบและขาดยา ทำให้แนวโน้มของการดื้อต่อยารักษาวัณโรคเพิ่มสูงขึ้น ในปีงบประมาณ 2558 โรงพยาบาลลำปางมีผู้ป่วยวัณโรคปอดที่ตรวจเสมหะพบเชื้อขึ้นทะเบียนรักษาจำนวน 297 ราย ผลสำเร็จของการรักษาร้อยละ 80.53 ไม่บรรลุตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 สาเหตุสำคัญคือการเสียชีวิตและการขาดยาเช่นกัน การเสียชีวิตพบมากในผู้ป่วยสูงอายุและผู้ป่วยที่มีโรคร่วม การขาดยาในผู้ป่วยวัณโรคมีเหตุเกี่ยวข้องหลายอย่าง เช่น ขาดความร่วมมือในการรักษาจากผู้ป่วย การรักษามีผลข้างเคียงทำให้ผู้ป่วยท้อแท้ สังคมและครอบครัวไม่ยอมรับ รังเกียจผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยไม่ร่วมมือในการรักษา ซึ่งการรักษาวัณโรคไม่ครบตามแผนการรักษาทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อและเกิดวัณโรคชนิดดื้อยา
วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เป็นได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย แต่ที่เป็นปัญหามากคือวัณโรคปอดเพราะแพร่เชื้อติดต่อไปสู่ผู้อื่นได้ง่ายโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ มักมีโอกาสติดโรคง่ายและมีอาการรุนแรงมากกว่าคนปกติ อาการที่น่าสงสัยว่าจะเป็นวัณโรคปอด คือ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีไข้ต่ำ ๆ เจ็บหน้าอก ไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์หรือไอมีเสมหะปนเลือดออกมา ผู้ป่วยอาจมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างก็ได้ หากสงสัยว่าจะป่วยเป็นวัณโรคควรเข้ารับการตรวจและรักษาโดยด่วน ปัจจุบันหมอจะรักษาด้วยระบบยาระยะสั้น โดยใช้ยาควบคู่กันหลายขนาน สามารถรักษาวัณโรคให้หายขาดได้ภายใน 6 - 8 เดือน จากเดิมที่ต้องใช้ยานานปีครึ่งถึงสองปี สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยต้องกินยาครบทุกขนานตามขนาดที่หมอสั่งทุกมื้ออย่างเคร่งครัดและมาตรวจตามนัดทุกครั้ง เมื่ออาการดีขึ้นมากอย่าหยุดยาเองโดยเข้าใจว่าหายแล้วเด็ดขาดเพราะเชื้อวัณโรคในร่างกายยังไม่หมด จะเกิดการดื้อยาและกลับมากำเริบใหม่ทำให้การรักษายากมากขึ้นและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
วิธีการป้องกันวัณโรคที่สำคัญคือ หากพบว่ามีผู้ป่วยวัณโรคในครอบครัวหรือในชุมชนต้องพาไปรับการรักษาโดยเร็วที่สุดเพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจายสู่ผู้อื่น เพราะในผู้ที่ร่างกายอ่อนแอหรือมีภูมิต้านทานต่ำเพียงแค่การพูดคุยกับผู้ป่วยก็มีโอกาสติดเชื้อวัณโรคได้ ดังนั้นผู้ป่วยต้องปิดปากและจมูกทุกครั้งขณะไอหรือจาม บ้วนเสมหะในภาชนะที่มีฝาปิดแล้วทำลายโดยการต้มหรือเผา สำหรับเด็กแรกเกิดต้องได้รับการฉีดวัคซีนบีซีจีป้องกันวัณโรคทุกรายเพื่อเพิ่มความต้านทานของร่างกายต่อเชื้อวัณโรคค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น