วันเสาร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2560

โรควัณโรคปอด เป็นโรคติดต่อและแพร่เชื้อกันได้ง่ายมาก

โรควัณโรคปอด เป็นโรคติดต่อและแพร่เชื้อกันได้ง่ายมาก การดูแลผู้ป่วยและคนใกล้ชิดจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อลดโอกาสการติดต่อไปยังผู้อื่น จะมีวิธีป้องกันอย่างไรนั้น เรามาทำความรู้จักกัน

วัณโรคติดต่อได้ทางการหายใจ จากการติดเชื้อโรคที่เป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่ง โดยการสูดหายใจเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยระยะแพร่เชื้อปล่อยออกมาจากการไอ จาม พูด หัวเราะ หรือร้องเพลง ซึ่งเชื้อสามารถ อยู่ในอากาศได้นานหลายชั่วโมง



ส่วนใหญ่มักเกิดโรคที่ปอด แต่ก็พบที่อวัยวะอื่นได้ เช่น ต่อมน้ำเหลือง หรือกระดูก ซี่งผู้ป่วยจะได้รับเชื้อจากคนใกล้ชิดในครอบครัว หรือในที่สาธารณะจากผู้ป่วยระยะแพร่เชื้อรายอื่น กลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ติดเชื้อเอชไอวี หรือไตวายเรื้อรัง เมื่อได้รับเชื้อจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคได้มากกว่าคนปกติหลายเท่า

ผู้ป่วยวัณโรคปอดจะมีอาการไอโดยมีเสมหะหรือไม่ก็ได้ บางรายจะไอเป็นเลือดได้มักจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หรือมีไข้ร่วมด้วย บางรายอาจมีอาการของวัณโรคนอกปอดไปพร้อมกัน เช่น มีก้อนที่คอ หรือปวดกระดูก ดังนั้นถ้าท่านมีอาการไอติดต่อกันเป็นเวลานานเกินกว่า 2 สัปดาห์ ร่วมกับมีอาการอื่นๆ ดังที่กล่าวไปแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และทำการตรวจค้นหาในกรณีที่เข้าข่ายเป็นวัณโรคได้ โดยการเอกซเรย์ปอดร่วมกับการตรวจหาเชื้อวัณโรคจากเสมหะ

เมื่อวินิจฉัยวัณโรคปอดได้แล้ว แพทย์จะทำการรักษาด้วยการให้กินยาเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งถ้าเชื้อไม่ดื้อยาและผู้ป่วยกินยาสม่ำเสมอ จะหายขาดเกือบทั้งหมด แต่ในรายที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติหรือ มีโรคเรื้อรังรุนแรงอยู่เดิม เมื่อหายแล้วต้องคอยรักษาสุขภาพและโรคที่มีอยู่เดิมให้ดีเพื่อป้องกันการกลับเป็นวัณโรคซ้ำได้

เนื่องจากโรคนี้ติดต่อแพร่เชื้อกันได้ง่ายมาก จึงควรระวังเป็นพิเศษ สำหรับผู้ป่วยควรดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด โดยการกินยาให้ครบ ไม่หยุดยาเองเป็นอันขาด เพราะจะทำให้เชื้อดื้อยาได้ เวลาไอจามต้องปิดปากและจมูกให้มิดชิด ถ้ามีเสมหะต้องบ้วนใส่ภาชนะที่มิดชิด แล้วเททิ้งในโถส้วม การกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะและพักผ่อนให้เพียงพอจะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็ว คนที่สูบบุหรี่หรือดื่มสุราอยู่ก็ต้องงดด้วย เพื่อให้โรคหายขาดได้ดีขึ้น ส่วนผู้ใกล้ชิดควรช่วยดูแลให้ผู้ป่วยกินยาอย่างสม่ำเสมอ และช่วยสนับสนุนให้ผู้ป่วยมารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ควรจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกและมีแสงแดดส่องถึง ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยในระยะใกล้ชิดในช่วง สัปดาห์แรกของการกินยา หรือถ้าผู้ป่วยยังไอมากอยู่ แต่สำหรับคนทั่วไปแล้ววัณโรคปอดไม่ได้ติดต่อกันได้ง่ายหรือรักษาไม่หาย จึงไม่ควรรังเกียจผู้ป่วยวัณโรค อีกทั้งต้องรักษาสุขภาพโดยทั่วไปให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงสิ่งเสพติด เพื่อไม่ให้วันหนึ่งต้องกลายมาเป็นผู้ป่วยวัณโรค

วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ธุรกิจ Startup เกี่ยวกับ IoT ที่มีเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดแอปพลิเคชั่นใหม่ๆ ด้านการดูแลสุขภาพ และการใช้ประโยชน์จากเซ็นเซอร์ที่เชื่อมต่อถึงกัน

ธุรกิจ Startup เกี่ยวกับ IoT ที่มีเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดแอปพลิเคชั่นใหม่ๆ ด้านการดูแลสุขภาพ และการใช้ประโยชน์จากเซ็นเซอร์ที่เชื่อมต่อถึงกัน เพื่อการวินิจฉัย, ตรวจสอบ ,บริการผู้ป่วย และทำการรักษาผู้ป่วยได้ดีกว่าและง่ายกว่าเดิม ซึ่งอุปกรณ์ IoT ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่อุปกรณ์ที่สวมใส่ได้ (Wearable devices) เพื่อการตรวจสอบติดตามผู้ป่วยได้ดีขึ้น ขณะที่ในโรงพยาบาลยังมีเซ็นเซอร์ที่เชื่อมต่อกันเป็นเครือข่าย ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการด้านสุขภาพและการตรวจสอบติดตามผู้ป่วยแบบ Realtime โดยการทำ Startup เกี่ยวกับด้านสุขภาพ และแอพพลิเคชั่นสำหรับคนรักสุขภาพมีหลากหลาย เช่น การติดตามการนอนหลับ, การติดตามดูแลเด็กอ่อน (Baby monitoring) และการติดตามการออกกำลังกาย (Fitness wearable) เป็นต้น

ตัวอย่างธุรกิจ Startup ด้านการดูแลรักษาและสุขภาพในประเทศสหรัฐอเมริกาที่นำ IoT มาใช้แล้ว ได้แก่

iot-startup-healthcare-1

(1) ธุรกิจ Startup ประเภทที่เพิ่มประสิทธิภาพด้านคลินิก (Clinical efficiency) เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในมุมมองของแพทย์ผู้รักษาและผู้ป่วยที่ได้รับบริการ คือการนำอุปกรณ์หรือวัตถุที่เชื่อมต่อมาใช้เพื่อปรับปรุงการส่งมอบบริการที่ดีด้านการดูแลสุขภาพในโรงพยาบาลและคลินิก และยังตรวจสอบติดตามการรักษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ ซึ่งได้แก่ บริษัท Augmedix และ Obaa ที่มีการนำอุปกรณ์สวมใส่ประเภท smartglass อย่างเช่น Google Glass มาใช้สำหรับ Healthcare และ Simplifeye ที่ช่วยแพทย์ให้ใช้ Apple Watch ในการตรวจสอบติดตามผู้ป่วยและเข้าถึง EMR ได้ดีขึ้น, บริษัท Awarepoint ใช้เซ็นเซอร์ IoT สำหรับการติดตาม location ของผู้ป่วยและเครื่องมือทางการแพทย์ได้อย่าง Real-time และ AdhereTech เป็นอีกหนึ่ง Startup ที่เชื่อมต่อขวดยาเพื่อใช้ในการติดตามการใช้ยาทางการแพทย์

(2) ธุรกิจ Startup เกี่ยวกับเซ็นเซอร์ชีวภาพ และอุปกรณ์ที่สวมใส่ในระดับที่ใช้ในมนุษย์ จะเน้นการเชื่อมต่อเซ็นเซอร์ชีวภาพ (biometric sensor) ที่ใช้ในคลินิกและโรงพยาบาล หรืออาจใช้ในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการอนุมัติจาก FDA เช่น บริษัท EarlySense และ Monica Healthcare, บริษัท Quanttus และ MC10 มีการพัฒนาอุปกรณ์สวมใส่ในมนุษย์ ที่กำลังจะให้ FDA ทำการอนุมัติ หรือเครื่องมือทางการแพทย์อื่นๆที่ใช้ IoT เช่น Eyenetra ทำให้สมาร์ทโฟนสามารถนำมาใช้เป็น “auto-refractor” สำหรับทดสอบสายตา

(3) ธุรกิจเกี่ยวกับการตรวจสอบติดตามผู้ป่วย จะเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีออกสู่ตลาดให้แก่ผู้บริโภค สำหรับเก็บรวบรวมข้อมูลทางชีวภาพ เช่น บริษัท Chrono Therapeutics เป็นผู้เริ่มต้นในการตรวจหาสารเสพติด และบริษัท Kinsa ผลิตเครื่องวัดอุณหภูมิอัจฉริยะ และยังมีระบบตรวจสอบติดตามของบริษัท Qardio และ AliveCor ที่พัฒนาเครื่องตรวจสอบติดตามสำหรับการทดสอบ ECG (electrocardiogram) จากบ้าน

(4) ธุรกิจเกี่ยวกับด้านประสาท (neurotechnology) หรือเซ็นเซอร์สมอง ส่วนใหญ่จะพยายามสร้างเครื่องมือที่สามารถแฮ็กสมองมนุษย์ได้ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง โดยการสวมใส่อุปกรณ์ที่ศรีษะมนุษย์ เช่น บริษัท Ybrain และ InteraXon ที่สร้างแถบคาดศีรษะเพื่ออ่านคลื่นสมอง และบริษัท Thync พัฒนาการส่งผ่านกระแสประสาทระหว่างสมองไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายเพื่อยกระดับหรือปรับอารมณ์ของผู้ป่วยได้ นอกจากนี้ บริษัท Neurovigil ยังมีโครงการที่มุ่งเน้นทางด้าน neurotechnology (การอ่านและบันทึกคลื่นสมอง) เพื่อวิเคราะห์ประสิทธิภาพของยา ซึ่งบริษัท Neurovigil สามารถพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้และเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

(5) ธุรกิจทางด้าน Fitness wearable ได้แก่ บริษัท Lumo และ OMsignal ที่สามารถพัฒนา Fitness wearable ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สวมใส่ขณะออกกำลังกาย และติดตามเก็บข้อมูลได้อย่าง Realtime

(6) ธุรกิจ Startup เกี่ยวกับการติดตามการนอนหลับ เช่น บริษัท Hello และ Beddit ที่เน้นในเรื่องการติดตามการนอนหลับโดยเฉพาะ และธุรกิจเกี่ยวกับการติดตามทารก เช่น บริษัท Owlet และ Sproutling ที่พัฒนาเทคโนโลยีของอุปกรณ์ที่สวมใส่ ที่สามารถติดตามการเคลื่อนไหวและอวัยวะที่สำคัญของทารก

ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมภาค Healthcare แต่เทคโนโลยี IoT ได้เข้ามาเป็นผู้เปลี่ยนเกมในระบบอัตโนมัติของอุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่การเริ่มติดตั้งโครงสร้างพื้นฐาน IoT ให้เป็น platform ขององค์กรต่างๆ โดยได้มีการเริ่มต้นใช้งานและทดสอบระบบ IoT ให้สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ในอดีต เพื่อให้เกิดประโยชน์และคุณค่าใหม่ๆแก่อุตสาหกรรม ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อลดต้นทุนด้วยการแทนการใช้แรงงานคน แต่ได้ประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่าการใช้แรงงานคนด้วยการตอบสนองต่อปัญหาแบบ Realtime