วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ขาว ใส เนียน เครื่องสำอางอันตราย


สิ่งที่อินเทรนด์ที่สุดคงหนีไม่พ้น "ความขาว" ซึ่งคาดว่าส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลจากละครโทรทัศน์ของบางประเทศ ทำให้คนไทยไม่น้อย พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองผิวขาว-หน้าขาวเช่นนั้นบ้าง แน่นอนว่าหนีไม่พ้นการสรรหาเครื่องสำอางที่โฆษณาสรรพคุณว่าสามารถทำให้ผิวขาวได้ดังใจนึกมาใช้ ถ้าใช้ของดีได้มาตรฐาน ก็คงไม่เป็นไร แต่หลายครั้ง ไปเจอของไม่ได้คุณภาพ เกิดอันตรายก็มีเหมือนกัน  ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่า ปัจจุบันยังตรวจพบเครื่องสำอางหลายยี่ห้อ ที่ใช้ส่วนผสมจาก "สารปรอท" สารเคมีที่ครั้งหนึ่งเมื่อหลายร้อยปีก่อน เคยถูกใช้ผสมเครื่องสำอางสำหรับหญิงสาวในทวีปยุโรป เพราะทำให้หน้าขาวขึ้นตามความนิยมในยุคนั้น แต่ต่อมาได้ถูกห้ามใช้ เพราะพบว่าเป็นอันตรายต่อร่างกาย แม้จะทดลองใช้เพียงระยะสั้นๆ ก็ตาม



ทำไมต้องเป็นสารปรอท?..
ปรอทนั้นเป็นโลหะหนักชนิดหนึ่งเป็นของเหลวในอุณหภูมิห้อง มีการใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางมานานมักใช้อยู่ 2 รูปแบบ คือ

1.ในรูปของ Inorganic Mercury เช่น Ammoniated Mercury ซึ่งมักผสมในเครื่องสำอางช่วยให้หน้าขาว ปรอทจะช่วยให้ขาว โดยไปยับยั้งเอนไซม์ Tyrosinase ทำให้ไม่สามารถสร้างเม็ดสี (Melanin) ได้ส่งผลให้ผู้ใช้มีผิวหน้าขาวและดูเนียน

2.ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งคือ Organic Mercury เช่น Thiomersal (Ethyl Mercury), Phenyl Mercuric Salts ซึ่งมักใช้เป็นสารกันเสียในเครื่องสำอางรอบดวงตา เนื่องจากสารปรอทมีข้อดีคือ ช่วยยับยั้งการปนเปื้อนของเชื้อ Pseudomonas spp.ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการติดเชื้อ Pseudomonas spp. อาจรุนแรงถึงขั้นตาบอดได้

เกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อนุญาตให้ใช้เป็นวัตถุกันเสียในเครื่องสำอางที่ใช้บริเวณรอบดวงตาเท่านั้น และให้ใช้ในอัตราส่วนสูงสุดไม่เกิน ร้อยละ 0.0065 (คำนวณในรูปโลหะปรอท)  !!!  สารปรอทมีอันตรายต่อทั้งร่างกายโดยตรง คือทำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ ผิวบางลง เมื่อใช้ไปนานๆ จะทำให้เกิดพิษสะสมของสารปรอทและทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบและไตอักเสบ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดเป็นแผลเป็น และทำให้ภูมิคุ้มกันของผิวต่อเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราลดลง จึงทำให้ติดเชื้อได้ง่ายเมื่อเกิดบาดแผล และยังส่งผลกระทบต่อระบบประสาทอีกด้วย เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า เป็นต้น รวมไปถึงอาการปลายประสาทชา

นอกจากเครื่องสำอางที่ใส่สารปรอท แล้วยังมี ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) เป็นสารเคมีซึ่งเป็นที่นิยมในการนำมาเตรียมครีมที่ทำให้หน้าขาว เนื่องจากเห็นผลได้เร็ว ไฮโดรควิโนนออกฤทธิ์โดยการยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสีของผิวหนัง (Melanin) จึงมีผลทำให้ผิวขาวขึ้นได้ สาร ไฮโดรควิโนน สามารถพบได้ในโลชั่นปรับสภาพผิว หรือ โลชั่นกันแดดกันฝ้า ซึ่งปรับสภาพผิวจากแสงแดด เป็นต้น

สารไฮโดรควิโนน มีความเป็นพิษ โดยมีค่า LD50 orally in rats หมายถึง ปริมาณสารที่ให้กับสัตว์ทดลอง (หนู) แล้วสัตว์ทดลองตายไปครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 50 เท่ากับ 320 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนู 1 กิโลกรัม พบว่ามีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์และก่อมะเร็งในหนู และมีรายงานว่า ผู้ใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารนี้ มีอาการระคายเคืองและจุดด่างขาวบนใบหน้า ผิวหน้าดำ เป็นฝ้าถาวรรักษาไม่หาย  ไฮโดรควิโนนจึงถูกจัดให้เป็นสารเคมีควบคุมมาตั้งแต่ปี 2539 ตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ให้ใช้ได้ตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น ห้ามนำไปผสมเครื่องสำอางที่วางขายทั่วไปในตลาดเด็ดขาด!!!

สารเคมีอีกชนิดหนึ่ง คือ กรดเรทิโนอิก (Retinoic Acid) เป็นสารที่ช่วยให้เกิดการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังและหลุดลอกได้ จึงช่วยให้สิวเสี้ยนและผิวหนังที่หยาบกร้านหลุดลอกออกโดยง่าย ทำให้ผิวผ่องใสและนุ่มเนียน แต่ก็เป็นสารที่มีอันตราย เพราะทำให้หน้าแดงและแสบร้อนขึ้นรุนแรง เกิดการระคายเคือง อักเสบ แพ้แสงแดดหรือแสงไฟได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติ เทอราโทเจน (Teratogenesis)ที่ทำให้เกิดความผิดปกติทางสายพันธุ์ในไข่หรือตัวอ่อนที่กำลังเติบโต ซึ่งถ้าได้รับระหว่างการตั้งครรภ์แล้วจะก่อให้เกิดการผิดปกติของทารกในครรภ์ได้

ระวังผลข้างเคียงจากการใช้เครื่องสำอางชนิดต่าง ๆ

โรคผิวหนัง เกี่ยวข้องกับผลข้างเคียงจากการใช้ยา เพื่อแต่งเสริมเติมแต่งความงามของร่างกาย ทำให้เกิดอันตรายในหลายลักษณะด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น ครีมหน้าขาวที่มีส่วนผสมจากไฮโดรควิโนน (Hydroquinone), ผลข้างเคียงจากการใช้สเตียรอยด์, การใช้ผลิตภัณฑ์ Whitening ที่ทำให้ผิวขาว, เครื่องสำอางปลอม และการเลือกซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์ด้านความงามจากการการโฆษณาทางอินเตอร์เน็ต เหล่านี้ล้วนเป็นอันตราย โดยเฉพาะครีมทาผิวบางชนิด ที่ใช้ได้เฉพาะที่ เช่น ทาบริเวณผิวหน้าเท่านั้น ห้ามนำมาทาตัว หรือทาบริเวณทั่วร่างกายห้ามทาบริเวณใบหน้า

ดังนั้นการซื้อครีมทาผิว ต้องอ่านฉลากให้ละเอียดเสียก่อนนำมาใช้ ทั้งในส่วนที่วางขายตามท้องตลาดทั่วไป, ตามเว็บไซต์ต่างๆ หรือการโปรโมทขายสินค้าตามรายการโทรทัศน์เคเบิ้ลทีวีบางช่อง สื่อเหล่านี้ให้ระวัง เพราะมักจะมีการโฆษณาเกินจริง บางครั้งครีมทาผิวดังกล่าวอาจจะเป็นของเลียนแบบ, ของปลอม หรือมีส่วนผสมของสารโคเบตาซอล ซึ่งเป็นสเตียรอยด์ชนิดที่แรงที่สุด เอาไว้รักษาโรคผิวหนังอักเสบที่เป็นเรื้อรัง หรือเป็นผื่นหนา และมีคำเตือนว่าห้ามใช้ติดต่อกันเกิน 4 สัปดาห์ สารนี้จัดเป็นยาและไม่สามารถอยู่ในเครื่องสำอางได้ สารชนิดนี้ออกฤทธิ์ที่ผิวหนังถึงชั้นหนังแท้และอาจเป็นแผลถาวร

ซึ่งผลของมันนอกจากไปยับยั้งการสร้างเม็ดสีผิว, ไปรบกวนเรื่องของการสร้างอิลาสติน และคอลลาเจนของผิวหนังแล้ว ยังทำให้เกิดการแตกลายงาของผิวหนัง ทำให้ผิวบางและเส้นเลือดขยาย หากไปทาที่ใบหน้าหรือบริเวณที่มีต่อมไขมันเยอะจะทำให้เกิดสิวซึ่งรักษายากกว่าสิวทั่วไป และเมื่อผิวบางโดนอะไรจะแพ้ง่าย และมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังได้ด้วย

ในประเทศไทยปัญหาการใช้ครีมหรือขี้ผึ้งสเตียรอยด์พบได้ค่อนข้างบ่อย เพราะยาในกลุ่มนี้ประชาชนสามารถซื้อหาได้เองโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ และมีราคาถูก 10 กรัมราคาเพียง 50 บาท มีเป็นร้อยยี่ห้อ ส่วนมากประชาชนมักจะคิดว่า ครีมทาผิวภายนอกไม่ค่อยมีอันตราย ในขณะที่ประเทศเจริญแล้ว เช่น อเมริกา, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์ ครีมในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด ประชาชนไม่สามารถซื้อใช้เอง ต้องมีใบสั่งแพทย์ ร้านขายยาจึงจะขายให้ เพราะผิดกฎหมาย ครีมสเตียรอยด์มีประโยชน์ คือ แก้แพ้ แก้คัน แก้ผื่นผิวหนังอักเสบ บางคนพอใช้แล้วหน้าเรียบ ก็เลยใช้ต่อเนื่อง ถ้าใช้ช่วงสั้น ๆ ไม่เป็นไร แต่ถ้าใช้นานๆ จะติด ไม่ ใช้ไม่ได้ และเพิ่มความแรงของยาขึ้นเรื่อย ๆ ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดปัญหาหยุดไม่ได้ พอหยุดผิวหนังจะอักเสบเห่อขึ้นมา

โดยผลข้างเคียงจากการใช้ครีมสเตียรอยด์ แบ่งได้ดังนี้

1. ประเภทเฉียบพลัน ได้แก่

1.1.การเกิดสิว ครีมกลุ่มนี้ทำให้เกิดสิว โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า และหน้าอก โดยสิวที่เกิดจากสเตียรอยด์ จะแตกต่างจากสิวทั่วไป จะเห็นเป็นสิวในแบบเดียวกันทั้งหมด คือ
เป็นตุ่มนูนแดง (ไม่มีหัวหนองหรือไขมันอุดตัน)

1.2 รอยโรคเดิมเป็นมากขึ้น พวกนี้ส่วนมากเกิดจากการใช้ยาผิดโรค เช่น เป็นโรคกลากเกลื้อนแล้วใช้ครีมสเตียรอยด์ทาจะทำให้เป็นมากขึ้น

1.3 เกิดผื่นแพ้สัมผัส ซึ่ง
อาจเกิดการแพ้สารกันบูดหรือน้ำหอมที่ใส่ในครีมสเตียรอยด์ได้ ส่วนการแพ้ตัวสเตียรอยด์เองนั้นก็พบได้แต่พบได้น้อย

2. ประเภทเรื้อรัง ได้แก่ ทำให้ผิวหน้าบางลง ออกแดดไม่ได้ เวลาเจอแดดก็จะแสบร้อน หลอดเลือดใต้ผิวหนังเปราะแตกง่าย ขนยาวขึ้นบริเวณทายา เกิดสิวและผื่นอักเสบรอบปาก เกิดภาวะติดยา ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยในเมืองไทยและรักษายาก ภาวะนี้เกิดจาการใช้ครีมสเตียรอยด์เป็นเวลานาน เวลาหยุดยาแล้วจะแดง หรือโรคผิวหนังอักเสบเดิมจะเป็นมากขึ้น ทำให้หยุดใช้ยาไม่ได้และต้องใช้ครีมสเตียรอยด์แรงมากขึ้น นอกจากนี้อาจไปกดการทำงานของต่อมหมวกไต ซึ่งมักเกิดจากการใช้ครีมสเตียรอยด์ชนิดแรงเป็นเวลานานโดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ

วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2558

หน้ากากอนามัย ป้องกันโรคได้ จริงหรือ?



หน้ากากอนามัยในท้องตลาดกันก่อน ที่นิยมใช้มีอยู่ 2 แบบด้วยกัน คือ
       
1.หน้ากากผ่าตัด (Surgical Mask)
เป็นหน้ากากอนามัยธรรมดาที่ใช้กันทั่วไป พบใช้บ่อยที่สุด เพราะใช้งานง่ายและราคาไม่แพง ราคามาตรฐานอยู่ที่ชิ้นละ 5-10 บาท
       
2.หน้ากากอนามัยชนิด N95
เป็นหน้ากากอนามัยชนิดพิเศษ สามารถป้องกันเชื้อโรคได้มากขึ้น มีหลายแบบ มีทั้งทรงกลม ทรงยาวรี หรือทรงสี่เหลี่ยมคางหมู ขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ผลิต อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าแบบไหนก็มีหลักการใส่เหมือนกันหมด ราคามาตรฐานอยู่ที่ชิ้นละ 30-60 บาท
       


การเลือกใช้หน้ากากอนามัยแบบไหน ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ว่าจะใช้ป้องกันเชื้อโรคประเภทใด โดยทั่วไป เชื้อโรคที่เราคาดหวังว่าจะใช้หน้ากากอนามัยป้องกันมี 2 ประเภท คือ
       
1.Droplet Transmission
คือเชื้อโรคที่แพร่กระจายโดยการไอและจาม ส่วนมากเชื้อจะแพร่ไปไม่ไกลเกิน 1 เมตร ตัวอย่างเชื้อโรคในกลุ่มนี้ เช่น ไข้หวัดใหญ่ เยื้อหุ้มสมองอักเสบบางชนิด การป้องกันเชื้อโรคกลุ่มนี้ แค่ใช้ “หน้ากากผ่าตัด” (Surgical Mask) และอยู่ห่างจากผู้ป่วยเกิน 3 ฟุต ก็จะเพียงพอต่อการป้องกันโรค
       
2.Airborne Transmission
คือเชื้อโรคที่แพร่กระจายได้ไกลในอากาศรอบตัว (ระยะไกลมากกว่า 1 เมตร และอาจไกลได้ทั้งห้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห้องอับ ห้องแอร์) ตัวอย่างเชื้อโรคในกลุ่มนี้ เช่น เชื้อวัณโรค การป้องกันเชื้อโรคกลุ่มนี้ต้องใส่หน้ากากอนามัยชนิด N95 จึงจะมีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการป้องกันโรค 

การใช้หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันโรค
       
1.หน้ากากอนามัยชนิด Surgical Mask ที่นิยมใช้กันทั่วไป ไม่อาจป้องกันได้ทุกโรค เช่น วัณโรคจะป้องกันไม่ได้
       
2.หน้ากากอนามัยชนิด N95 แม้จะมีประสิทธิภาพมากกว่าชนิด หน้ากากผ่าตัด (Surgical Mask) แต่ก็มีข้อจำกัด คือ เวลาใส่จะอึดอัดมาก เหมือนกับขาดออกซิเจน จึงไม่สามารถใส่หน้ากากอนามัยแบบ N95 ได้ทั้งวัน และการใส่หน้ากากอนามัยชนิดนี้ ต้องใส่ให้แนบสนิทกับใบหน้าจริงๆ จึงจะได้ผล เพราะถ้าอากาศผ่านเข้าไปได้ ไม่ว่าจะเป็นช่องเปิดตรงคาง แก้ม หรือจมูก เชื้อโรคก็จะสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ จึงมีค่าเท่ากับไม่ได้ใส่
       
3.ถ้าเจอคนเป็นหวัดธรรมดา แล้วไม่อยากใส่หน้ากากอนามัยและไม่อยากติดโรคด้วย ขอให้มีระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1 เมตรขึ้นไป
       
4.การป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่ดีที่สุด คือ อย่าสัมผัสเชื้อ ดังนั้น เมื่อมีโรคระบาด ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ หรืออีโบลาก็ตาม อย่าไปอยู่ในที่ชุมชนและสถานที่แออัด มีคนเยอะๆ จำไว้เสมอว่า “แม้แต่หน้ากากอนามัยประสิทธิภาพดีที่สุด ก็ยังไม่อาจป้องกันโรคติดต่อเชื้อทางเดินหายใจได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และไม่ดีเท่ากับการอยู่ห่างจากแหล่งระบาด” 

วันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2558

โรคปอดอักเสบภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม

ช่วงฤดูฝนใกล้ฤดูหนาวเป็นช่วงที่มักจะมีการระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจต่างๆเช่น ไข้หวัดใหญ่และโรคปอดอักเสบ

ปอดอักเสบหรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “ปอดบวม” เพราะมีลักษณะการอักเสบของเนื้อปอด โดยเฉพาะที่บริเวณถุงลมของปอด ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อย เมื่อเป็นแล้วทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยที่อาการของโรคจะมีความรุนแรงในผู้สูงอายุ (> 65ปี) และในผู้มีโรคประจำตัวผู้สูบบุหรี่ มีโรคปอดเรื้อรัง เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง มีภาวะขาดอาหาร หรือมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคตับแข็ง โรคไต มีภูมิต้านทานโรคต่ำเช่น ในผู้ติดเชื้อเอชไอวี ได้รับยา สเตีย-รอยด์ ได้รับยารักษาโรคมะเร็ง มีภาวะสำลักง่ายจากการเป็นโรคเส้นเลือดสมอง ดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งในผู้ป่วยกลุ่มนี้เมื่อเกิดโรคปอดอักเสบแล้ว มักมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและอัตราการเสียชีวิตที่สูง ดังนั้นการวินิจฉัยโรคนี้จึงต้องทำอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันการรักษาหรือป้องกันอย่างเหมาะสมก็ล้วนมีความสำคัญมากเช่นกัน

สาเหตุการเกิดโรคปอดอักเสบเกิดจากสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ ปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ และปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่โดยทั่วไปพบปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อมากกว่า โดยการติดเชื้อมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบที่มีเชื้อแบคทีเรียเป็นสาเหตุนั้น พบว่าเกิดจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัสมากที่สุด ซึ่งสาเหตุของโรคจะแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอายุ และสภาพแวดล้อมที่เกิดปอดอักเสบ

ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบมักมีอาการแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ อายุของผู้ป่วย และความรุนแรงของโรค โดยทั่วไปมักมีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนนำมาก่อน เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ อาการปอดอักเสบที่พบบ่อยคือ ไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย ในบางรายอาจมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ผู้ป่วยบางรายจะมีหนาวสั่นได้
การรักษาแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ

1.การรักษาจำเพาะ ในรายที่เป็นโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส ไม่มียารักษาที่จำเพาะควรให้การรักษาแบบประคับประคอง ยกเว้นไข้หวัดใหญ่ที่มียาต้านไวรัส สำหรับผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย ควรได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

2.การรักษาทั่วไป เช่น ให้สารน้ำให้เพียงพอ แนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ ในรายที่หอบมาก ท้องอืด รับประทานอาหารไม่ได้ ,พิจารณาให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำและงดอาหารทางปาก ,ให้ออกซิเจนในรายที่มีอาการเขียวหายใจเร็ว หอบชายโครงบุ๋ม กระวนกระวาย หรือซึม ,ใช้ยาขยายหลอดลมในรายที่มีหลอดลมตีบ ,ให้ยาขับเสมหะ หรือยาละลายเสมหะในกรณีที่ให้สารน้ำเต็มที่แต่เสมหะยังเหนียวอยู่ นอกจากนี้การรักษาอื่นๆ ตามอาการ ได้แก่ ให้ยาลดไข้และถ้าหากผู้มีภาวะหายใจล้มเหลวหรือหยุดหายใจพิจารณาใส่ท่อหลอดลมและเครื่องช่วยหายใจ

สำหรับการป้องกันโรคปอดอัดเสบทำได้ดังนี้

1.หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีผู้คนหนาแน่น เช่น ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ โดยเฉพาะไม่ควรพาเด็กเล็กๆไปในสถานที่ดังกล่าว

2.หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเช่น ภาวะทุพโภชนาการ ควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรืออากาศที่หนาวเย็น

3.ไม่ควรให้เด็กเล็กโดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปีและผู้ที่สุขภาพไม่แข็งแรงคลุกคลีกับผู้ป่วยและผู้ป่วยควรใช้หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

4.ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือใช้แอลกอฮอล์เจล

5.ให้วัคซีนป้องกันโรคในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง โดยวัคซีนที่ได้รับการพิจารณาว่ามีผลในการลดอัตราการเกิดโรคปอดอักเสบในชุมชน คือวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ สำหรับวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ มีประสิทธิภาพในการป้องกันปอดอักเสบจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัส จึงควรฉีดในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ผู้สูงอายุ(> 65ปี) ,ผู้ที่ไม่มีม้ามหรือม้ามทำหน้าที่ได้ไม่ดี, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคเบาหวาน, โรคหัวใจหรือโรคปอดเรื้อรัง, พิษสุราเรื้อรัง, โรคตับแข็ง, ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยที่ได้รับยาสเตียรอยด์ หรือยารักษาโรคมะเร็ง ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

โดยที่วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบมีความปลอดภัยสูงมาก หากจำเป็นต้องฉีดทั้งสองชนิดสามารถฉีดพร้อมกันได้ โดยผลข้างเคียงที่พบได้แก่ อาการปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีด อาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวซึ่งสามารถรักษาตามอาการได้ เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับจากวัคซีนนั้นถือว่าคุ้มค่ามากและแนะนำว่าผู้ที่มีความเสี่ยงข้างต้นสมควรมารับการฉีดวัคซีนทุกคน

วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2558

โครงสร้างและส่วนประกอบง่ายๆของผิวหนังเส้นผม และมีวิธีดูแลรักษาเบื้องต้นอย่างไรบ้าง

โครงสร้างของผิวหนัง

ผิวหนังของคน จะแบ่งประเภทออกตามแนวลึกลงไป ได้แก่

1.หนังกำพร้า (epidermis) แบ่งออกเป็นอีก 4 ชั้นย่อย ชั้นนอกสุดคือขี้ไคล เป็นเซลล์ไม่มีชีวิตที่มีสาร Keratin รอการหลุดลอกทิ้ง แต่ก็ยังมีประโยชน์ในการปกคลุมผิวชั้นนอกสุด ไม่ให้สิ่งมลพิษเข้าไปลึกกว่านี้ได้ง่ายๆ

2.หนังแท้ (dermis) จะมีต่อมเหงื่อ ต่อมไขมัน เซลล์รับความรู้สึก มีเส้นเลือดนำอาหารมาเลี้ยงผิวหนัง

3.ไขมันใต้ผิวหนัง (subcutaneous tissue) ไขมันที่สร้างความอบอุ่นให้ร่างกาย เหมือนเบาะรอง ความหนาของชั้นผิวหนังจะไม่เท่ากัน ขึ้นกับว่าเป็นผิวหนังในตำแหน่งไหนของร่างกาย  ขึ้นกับอายุของคน  ขึ้นกับสภาวะที่เกิดโรคผิวหนัง

ผิวหนังของคนมีหน้าที่เป็นเกราะป้องกันสารต่างๆ   ป้องกันสิ่งแปลกปลอม  ป้องกันมลพิษแทรกซึม  รักษาความอบอุ่น  รับรู้ความรู้สึก  รวมถึงสร้างระบบภูมิต้านทานและวิตามินดีแก่ร่างกายอีกด้วย


โครงสร้างของผม


ปกติคนเราจะมีเส้นผม 100,000 เส้น  และยาวขึ้นทุกวันๆละ 0.35 มม.หรือ เดือนละ 1 ซม. เส้นผมจะมีการเติบโต 3 ระยะ  ระยะแรกๆจะเพิ่งขึ้นและพบได้ส่วนลึกที่สุดในศีรษะ  ระยะที่สองกับสามก็พบออกมาในชั้นบนสุด  ระยะที่สามคือชั้นบนสุดประมาณ  90,000 เส้นจะมีอายุ 3 เดือนก็หลุดร่วงไป  ฉะนั้นการที่เส้นผมร่วงไปน้อยกว่า  100 เส้นต่อวัน  เป็นเรื่องปกติ

การดูแลเส้นผมเบื้องต้น

1.สระผม สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
2.เลือกแชมพูให้เหมาะสมกับเส้นผม
3.หลังสระผม เช็ดให้แห้ง
4.หวีบ่อยๆเพื่อนวดหนังศีรษะ  แต่ไม่ใช้หวีซี่แคบๆหรือแหลมคม
5.ไม่ยืดรั้งผมให้ตึงมาก
6.ไม่ควรเป่าผมด้วยความร้อน ดัดผม โกรกสีผม มากกว่าเดือนละ 1 ครั้ง

ต้อหินตรวจพบก่อน ป้องกันตาบอดได้


“ต้อหิน” เป็นโรคความเสื่อมเกิดจากขั้วประสาทตา ซึ่งมีหน้าที่รับสัญญาณภาพส่งไปยังสมองถูกทำลายด้วยความดันลูกตา เซลล์เส้นประสาทที่ตายไปแล้วไม่สามารถทำให้กลับฟื้นคืนมาได้ เป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้แต่สามารถรักษาเพื่อหยุดไม่ให้อาการแย่ลงได้โดยการหยอดตา เลเซอร์ หรือผ่าตัด



จัดเป็นภัยเงียบอีกอย่างหนึ่งเนื่องจากในระยะแรกจะไม่มีอาการใด ๆ ถ้าไม่ตรวจก็ไม่สามารถรู้ได้ โรคจะค่อย ๆ เป็นไปอย่างช้า ๆ ทำให้การมองเห็นแคบลง แต่ตรงกลางยังคงมองเห็นได้ดี ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกผิดปกติซึ่งกว่าจะรู้ตัวอีกทีก็อาจเกิดอาการหนักมากแล้ว

“ต้อหินเป็นโรคตาบอดถาวรอันดับ 1 ของไทย 9 ใน 10 คนที่เป็นต้อหินไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ สามารถอ่านหนังสือ ขับรถ ใช้ชีวิตได้ตามปกติ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เป็นมากแล้ว แต่ถ้าตรวจพบก่อน ก็สามารถรักษา ป้องกันไม่ให้ตาบอดได้ การตรวจตาจึงมีความสำคัญมาก กลุ่มเสี่ยงควรได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยจักษุแพทย์”

อายุเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดต้อหิน ยิ่งอายุมากขึ้นโอกาสที่จะเป็นต้อหินก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น สำหรับคนที่อายุ 40 ปี จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นต้อหิน 1% อายุ 50 ปี เสี่ยงเป็นต้อหิน 2% อายุ 60 ปี เสี่ยงเป็นต้อหิน 4% อายุ 70 ปี เสี่ยงเป็นต้อหิน 7% และถ้าอายุ 80 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นต้อหินมากกว่า 8% ขึ้นไป

กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นต้อหินมากกว่าปกติ ได้แก่ คนที่มีอายุมากกว่า 40 ปี, มีประวัติครอบครัว พ่อ แม่ พี่น้องสายตรงเป็นต้อหิน, คนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดในลูกตา มีอุบัติเหตุทางตา, มีสายตาสั้นหรือยาวมาก ๆ, มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไทรอยด์, ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นประจำ เช่น คนไข้โรคพุ่มพวง (SLE)

คนกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยจักษุแพทย์ ไม่ควรรอให้เกิดอาการผิดปกติแล้วค่อยไปตรวจ หากตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่ระยะแรก ก็สามารถรักษาป้องกันไม่ให้ตาบอดถาวรได้

การรักษาโรคต้อหิน ส่วนใหญ่รักษาด้วยการหยอดยา เพราะสะดวก รวดเร็ว ง่าย สำหรับคนไข้ ยาสำหรับรักษาโรคต้อหินก็สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ อยู่ในบัญชีหลักประกันสุขภาพ นอกจากการหยอดยายังมีวิธีการรักษาโดยการผ่าตัด จะใช้กับคนไข้ที่ใช้ยาไม่ได้หรือใช้ยาไม่ได้ผล สำหรับผู้ป่วยโรคต้อหินชนิดมุมตาเปิดบางชนิดต้องทำการรักษาด้วยการยิงเลเซอร์

นอกจากการรักษาทั้ง 3 วิธี ปัจจุบันมีข่าวแพร่หลายในสังคมออนไลน์เรื่องการนวดตาเพื่อรักษาต้อหิน โดยการกดที่เปลือกตาอย่างแรงจนถึงขั้นเห็นแสงพร่า นาน 45 วินาที ถึง 2 นาที แล้วค่อยปล่อยมือออกจากเปลือกตา เพื่อให้เลือดสูบฉีดเข้าไปในตาได้ดีขึ้นนั้น ชมรมต้อหินแห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ไม่แนะนำให้ทำการรักษาต้อหินด้วยวิธีดังกล่าว เพราะไม่มีหลักฐานการวิจัยอย่างถูกต้องทางวิชาการสนับสนุนยืนยันการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว

“การนวดตาทำให้เปลือกตามีความร้อน ทำให้สุขภาพตาดีขึ้น คนที่เป็นโรคตาแห้ง น้ำตาแห้งจะดีขึ้นเพราะความร้อนช่วยทำให้ความสมดุลของน้ำมันกับน้ำตาดีขึ้น ทำให้การมองเห็นดีขึ้น แต่ต้องไม่ใช่วิธีการกดตาอย่างแรง การกดตาจนเห็นแสงพร่า เป็นอันตรายต่อดวงตา วุ้นตา เซลล์ประสาทตา และอาจมีผลเสียถึงจอรับภาพด้วย”

ตรวจสเตียรอยด์ปนปลอมในผลิตภัณฑ์สมุนไพร…ไม่ยากอย่างที่คิด

รู้จักกับสเตียรอยด์

สเตียรอยด์เป็นสารประเภทฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างขึ้น มีประโยชน์ในการควบคุมการเปลี่ยนสภาพของสารคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน ตลอดจนควบคุมสมดุลของเกลือแร่ อิเล็กโทรไลต์ และน้ำในร่างกาย และสามารถบรรเทาการอักเสบได้ จึงได้มีการสังเคราะห์ขึ้นเพื่อนำมาใช้เป็นยา ที่มีประโยชน์หลายด้านทั้ง ต้านการอักเสบ ใช้เป็นยากดภูมิคุ้มกัน และใช้ในผู้ที่ขาดฮอร์โมนประเภทนี้ จัดได้ว่าเป็นยาที่มีสรรพคุณดีมาก สามารถใช้รักษาโรคได้หลายชนิด เช่น โรคลูปูส หรือโรคเอส แอล อี (โรคพุ่มพวง) โรคผิวหนังที่เกิดจากการแพ้ โรคหืด เป็นต้น โดยในรูปยามีชื่อว่า เพรดนิโซโลน (prednisolone), เด็กซ์ซาเมทาโซน (dexamethasone) เป็นต้น

อันตรายของสเตียรอยด์

แม้สเตียรอยด์จะเป็นสารภายในร่างกายแต่เมื่อนำมาใช้เป็นยา จะต้องใช้ตามความจำเป็นเท่านั้น มิฉะนั้นจะเกิดอันตราย ยิ่งถ้าได้รับสเตียรอยด์เป็นเวลานานหรือในขนาดสูงมากจะยิ่งเป็นอันตรายมากขึ้น อันตรายที่จะเกิดขึ้นนั้น ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เพิ่มน้ำตาลในเลือด กระดูกพรุน ต้อหิน ต้อกระจก เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ผิวบาง หน้ากลมเป็นวงพระจันทร์ หลังเป็นหนอก เป็นต้น ซึ่งเมื่อหยุดสเตียรอยด์กระทันหันจะเกิดอาการขาดสเตียรอยด์ ความดันโลหิตลดต่ำ น้ำตาลในเลือดตกลง ตามมาด้วยการเป็นลมหมดสติ

ป้องกันอันตรายจากยาสเตียรอยด์ที่ปนปลอมในผลิตภัณฑ์สมุนไพร

ยาสเตียรอยด์มักพบปนปลอมในยาชุด ยาลูกกลอน ยาสมุนไพร ยาต้ม ยาหม้อ ยาพระ รวมทั้งยาที่อวดอ้างสรรพคุณว่ารักษาได้สารพัดโรค ทั้งนี้เนื่องจากยาสเตียรอยด์เป็นยาที่มีคุณอนันต์ แต่โทษมหันต์ มีผลต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ดังได้กล่าวมาแล้ว ทำให้ผู้ที่ได้รับยาสเตียรอยด์อาจเห็นผลในการบรรเทาอาการได้อย่างรวดเร็ว รู้สึกพึงพอใจ จึงทำให้อาจละเลยการรักษาที่สาเหตุของโรคโดยตรง แต่ยิ่งใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานมากขึ้นเท่าใด อาการไม่พึงประสงค์ของยาสเตียรอยด์ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับความรุนแรงของโรคที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น หากจะใช้ยาลูกกลอน ยาสมุนไพร เหล่านั้น จึงควรดูเครื่องหมาย อย. ก่อนเลือกซื้อยาดังกล่าว หากไม่มีเครื่องหมาย อย. แปลว่า ไม่ได้รับการรับรองคุณภาพจากหน่วยงานของรัฐ ฉะนั้นจึงควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มียาสเตียรอยด์ปนปลอม

การตรวจสอบยาสเตียรอยด์ปนปลอม

หากท่านต้องการใช้ยาลูกกลอน ยาสมุนไพร ยาต้ม ยาหม้อ ยาพระ เหล่านั้น แต่ไม่แน่ใจว่ามียาสเตียรอยด์ปนปลอมมาหรือไม่ ท่านตรวจสอบการปนปลอมยาสเตียรอยด์ได้อย่างง่าย ๆ โดยใช้ “ชุดตรวจสอบสเตียรอยด์” ผลิตและจำหน่ายโดย ศูนย์ชุดทดสอบและผลิตภัณฑ์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นวิธีการตรวจสอบเบื้องต้น สำหรับตรวจสารสเตียรอยด์ชนิดเด็กซ์ซาเมทาโซนและเพร็ดนิโซโลนที่ปนปลอมในยาแผนโบราณ ใช้การแยกสารด้วย Thin-Layer Chromatography และตรวจสอบด้วยกระดาษทำให้เกิดสีซึ่งจะเปลี่ยนสีของสารสเตียรอยด์ เป็นสีม่วง ปริมาณต่ำสุดที่ตรวจพบได้ คือ 2 ไมโครกรัม1




ทั้งนี้เนื่องจากชุดทดสอบแบบเดิม มีขั้นตอนการเตรียมตัวอย่างหลายขั้นตอน ต้องใช้เครื่องมือพิเศษ และผู้ชำนาญการในการทดสอบและอ่านผล ทำให้ยุ่งยาก เสียเวลา ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้ทำการพัฒนาวิธีการตรวจให้ง่ายขึ้น สามารถนำไปใช้ในภาคสนาม และประชาชนทั่วไปสามารถนำไปใช้ตรวจสอบได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะส่งผลให้การคุ้มครองผู้บริโภคทุกพื้นที่เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ชุดทดสอบนี้คือ “DMSc Steroid” เป็นชุดทดสอบสำหรับใช้ในการตรวจสอบเบื้องต้นสำหรับเด็กซ์ซาเมทาโซน และเพร็ดนิโซโลน ซึ่งทดสอบได้ง่ายกว่าชุดทดสอบแบบเดิม ลักษณะการตรวจเป็นแบบให้เชิงคุณภาพ โดยใช้เทคนิคอิมมูโนโครมาโทกราฟี (Immunochromatography) ปริมาณต่ำสุดที่สามารถตรวจวัดได้สำหรับเด็กซ์ซาเมทาโซน เท่ากับ 1 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร และสำหรับ เพร็ดนิโซโลน เท่ากับ 50 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร วิธีการตรวจสอบ มีดังนี้ คือ ถ้าตัวอย่างยาสมุนไพรเป็นยาเม็ด ให้บดให้แตกละเอียด หรือใช้กรรไกรสะอาดตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ตักตัวอย่างด้วยหลอดพลาสติกสำหรับตักตัวอย่าง หรือหลอดหยดตัวอย่างที่เป็นของเหลวลงในหลอดทดสอบพลาสติก จากนั้นให้หยดน้ำยาจากขวดบรรจุน้ำยาละลายตัวอย่างลงในหลอดทดสอบที่ใส่ตัวอย่างยาสมุนไพร แล้วปิดจุกพลาสติกให้แน่น จากนั้นเขย่าให้เข้ากันประมาณ 3 นาที ตั้งทิ้งไว้จนเกิดการแยกชั้น จากนั้นดูดน้ำยาส่วนใสไม่ให้มีฟองอากาศ และหยดลงในหลุมทดสอบในลักษณะตั้งตรงทีละหยด จำนวน 4 หยด อ่านผลการทดสอบภายใน 10-15 นาที แล้วสังเกตผล โดยหากพบว่า เป็นเส้นสีแดง 2 เส้น แสดงว่า ไม่มีการปนปลอมของยาสเตียรอยด์ในยาสมุนไพรที่ทดสอบ แต่ถ้าเห็นเป็นเส้นสีแดง 1 เส้น แสดงว่า มีการปนปลอมของสารสเตียรอยด์2 (รูปที่ 2) ชุดทดสอบนี้หาซื้อและสอบถามได้ที่ ศูนย์ชุดทดสอบและผลิตภัณฑ์ ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โทรศัพท์ 0-2951-0000 ต่อ 98450



นอกจากชุดทดสอบที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น การตรวจสอบการปนปลอมยาสเตียรอยด์ เด็กซ์ซาเมทาโซน และเพร็ดนิโซโลน ในตัวอย่างผลิตภัณฑ์สมุนไพรจำนวนมาก สามารถใช้ “วิธีรงคเลขผิวบาง (Thin layer chromatography, TLC)” ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย สะดวก ตรวจสอบได้หลาย ๆ ตัวอย่างในเวลาเดียวกัน วิธีนี้เป็นวิธีที่ห้องปฏิบัติการในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ใช้ในการวิเคราะห์เชิงคุณภาพและปริมาณของวัตถุดิบสมุนไพร และผลิตภัณฑ์สมุนไพร วิธี TLC มีหลักการคือ การแยกสารตามหลักการโครมาโทกราฟี ที่มีวัฏภาคคงที่ และวัฏภาคเคลื่อนที่ หลังจากนั้นจะตรวจสอบสารด้วยน้ำยาพ่นเฉพาะ ในกรณีการตรวจสอบการปนปลอมยาสเตียรอยด์ เดกซ์ซาเมธาโซน และเพร็ดนิโซโลน ระบบ TLC ที่จะแนะนำ คือ วัฏภาคคงที่ Silica gel GF254 ส่วนวัฏภาคเคลื่อนที่ อาจจะเป็น dichloromethane : methanol อัตราส่วน 9:1 หรือ toluene : ethyl acetate : formic acid อัตราส่วน 50:45:10 น้ำยาพ่นที่ใช้คือ tetrazolium blue ซึ่งถ้ามีการปนปลอมสเตียรอยด์ จะเกิดเป็นแถบสีม่วงน้ำเงิน ในระยะเดียวกับสเตียรอยด์ที่ใช้เป็นสารเปรียบเทียบ โดยทั่วไปสมุนไพรมักจะมีสารกลุ่มสเตียรอยด์ที่พืชสร้างขึ้นมาเอง เช่น beta-sitosterol, stigmasterol, campesterol แต่สารดังกล่าวจะมีค่า Rf ที่มากกว่ายาสเตียรอยด์สังเคราะห์ เนื่องจากมีขั้วน้อยกว่า และจะไม่ให้ผลบวกกับน้ำยาพ่น tetrazolium blue เป็นสีม่วงน้ำเงิน บางครั้งผลของทีแอลซีโครมาโทแกรมของตัวอย่างที่นำมาตรวจสอบอาจจะมีแถบสารที่มีค่า Rf เท่ากับหรือใกล้เคียงกับยาสเตียรอยด์เมื่อตรวจสอบภายใต้แสงอัลตราไวโอเลตที่ความยาวคลื่น 254 นาโนเมตร แต่ถ้าพ่นด้วยน้ำยาพ่นแล้วไม่ให้สีม่วงน้ำเงิน แสดงว่าตัวอย่างดังกล่าวไม่มียาสเตียรอยด์ ทั้งนี้เพราะตัวอย่างดังกล่าวอาจจะมีสารอื่นที่มีขั้วใกล้เคียงกับยาสเตียรอยด์ แต่ถ้าตัวอย่างยาลูกกลอนที่นำมาตรวจสอบมีน้ำตาลเป็นส่วนผสม ผลของโครมาโทแกรมที่พ่นด้วยน้ำยา tetrazolium blue จะพบว่ามีแถบที่ให้ผลบวกเป็นสีม่วงน้ำเงินใกล้จุดเริ่มต้น ทั้งนี้เนื่องจากน้ำยาพ่น tetrazolium blue ให้ผลบวกกับสารกลุ่มน้ำตาลด้วย ซึ่งถ้านำตัวอย่างลูกกลอนที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสม มาตรวจสอบกับน้ำยาพ่นโดยตรงโดยไม่มีการแยกสารตามวิธี TLC จะพบผลบวกลวง ฉะนั้นจึงถือได้ว่า วิธี TLC เป็นวิธีที่ใช้ตรวจสอบการปนปลอมด้วยยาสเตียรอยด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัด และรวดเร็ว3




เอกสารอ้างอิง
  1. http://th.88db.com/thailand/Central-Region+Nonthaburi/Health/Medical-Equipments-Lab/ad-1445514/
  2. http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9530000108526
  3. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ อุทัย โสธนะพันธุ์ ประไพ วงศ์สินคงมั่น. ทีแอลซี: วิธีอย่างง่ายในการวิเคราะห์คุณภาพเครื่องยาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2554.